บ้านราคาถูก: บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ ข้อควรรู้ก่อนรีโนเวท ข้อดี-ข้อเสีย เป็นอย่างไร? บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ หรือ บ้านไม้กึ่งปูน ถือเป็นแบบบ้านประเภทหนึ่ง ที่คนไทยนิยมมาก ๆ เพราะมีความร่วมสมัย เนื่องจากเป็นการผสมผสาน ความอบอุ่นจากงานไม้ และความทันสมัยจากงานปูนเข้าไว้ด้วยกัน จะพาไปไปดู ข้อควรรู้ ก่อนจะสร้าง หรือรีโนเวทบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ ว่ามีอะไรบ้าง? ไปดูกันเลย
ในปัจจุบัน การออกแบบบ้าน และที่อยู่อาศัยนั้น มีอยู่มากมายหลากลหายรูปแบบให้ได้สรรหา ไอเดียหนึ่ง ที่ดูจะเป็นที่นิยมทั้งการก่อสร้างบ้านหลังใหม่ และการปรับปรุงรีโนเวทบ้านหลังเก่าดั้งเดิม ให้แลดูทันสมัยน่าใช้งานขึ้น คือ การออกแบบบ้านสไตล์ผสมผสานแบบบ้านครึ่งไม้ครึ่งปูน นั่นเอง
ข้อดี-ข้อเสีย ของบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้
ข้อดีของ บ้านไม้กึ่งปูน
1. แข็งแรงทนทาน
บ้านไม้กึ่งปูนที่พบเห็นส่วนใหญ่ จะเป็นบ้านเดี่ยว และทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์โฮมเป็นหลัก เป็นการผสมผสาน 2 วัสดุหลัก โดยใช้ปูนเป็นฐานราก และใช้ไม้ไว้ส่วนบน เนื่องจากปูนมีน้ำหนักมากกว่าไม้ จึงช่วยเสริมให้แบบบ้านไม้กึ่งปูน มีความความแข็งแรงทนทาน และยังถ่ายเทอากาศได้ดี ซึ่งเป็นจุดเด่นหลักของทั้งไม้ และปูน
2. ประหยัดพลังงาน
หนึ่งในจุดเด่นหลักของแบบบ้านครึ่งไม้ครึ่งปูน คือ เรื่องของการถ่ายเทอากาศ เนื่องจากไม้ จะมีช่องลมช่วยระบายอากาศ และยังทำให้ภาพรวมของบ้านโปร่ง โล่ง สบาย ส่วนปูน ก็สามารถดูดซับความเย็นของอากาศได้ดี ลดอุณหภูมิของบ้านที่ร้อนในช่วงเวลากลางวัน เมื่อนำมาใช้คู่กัน จึงเข้ากันได้อย่างลงตัว ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อีกด้วย
3. สวยงาม เข้ากันได้ลงตัว
ด้วยโทนสี และเนื้อวัสดุของไม้ และปูน เมื่อนำมาออกแบบ ตกแต่ง สามารถเข้ากันได้ลงตัวในงานสถาปัตยกรรม โดยปูนให้ความดิบ เท่ ในสไตล์ลอฟท์และอินดัสเทรียล ส่วนไม้ ให้ความคลาสสิก ร่วมสมัย และคันทรีได้เป็นอย่างดี
4. วัสดุหาง่าย ราคาไม่แพง
ไม้ และปูน เป็นวัสดุก่อสร้างหลัก ที่หาซื้อได้ง่าย สำหรับใช้ในการวางฐานราก และตกแต่ง ในแง่ของราคา บ้านไม้กึ่งปูน ยังช่วยประหยัดงบประมาณได้ ถ้าเทียบกับแบบบ้านไม้ ที่ใช้ไม้เป็นวัสดุหลักเพียงอย่างเดียว เพราะไม้ดี ๆ ไม้เนื้อแข็ง จะมีราคาค่อนข้างสูง ขณะที่ปูนนั้น มีราคาถูกกว่า เมื่อผสมผสานทั้ง 2 วัสดุเข้าด้วยกัน ลดการใช้ไม้ลง ก็ทำให้บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ เป็นอีกหนึ่งแบบบ้าน ที่ประหยัดงบประมาณ ลดต้นทุนการปลูกสร้างได้สำหรับคนที่มีงบประมาณจำกัด
5. เสริมจุดเด่น กลบจุดด้อยระหว่างกัน
หากใช้งานไม้ทั้งหมด จะมีราคาแพง การเลือกใช้ปูน เป็นฐานราก ช่วยลดต้นทุนการปลูกสร้างได้ และถึงแม้ว่าไม้จะให้อารมณ์ และความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติมากกว่าปูน ที่อาจดูแข็งกระด้าง แต่ในทางกลับกัน ไม้ก็อาจเจอกับปัญหาจากปลวกที่มากวนใจ แต่ปูนช่วยกลบจุดด้อยดังกล่าวได้ ทั้ง 2 วัสดุ จึงเป็นส่วนเสริมระหว่างกัน ในการทำให้ภาพรวมแบบ บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ มีความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
ข้อเสียของ บ้านไม้กึ่งปูน
1. เสียงรบกวน
เมื่อนำไม้มาเป็นส่วนประกอบต่าง ๆ ของบ้าน อาจเจอกับปัญหาเสียงรบกวน ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งเสียงยืดหดตัวของไม้ เสียงจากระบบพื้น ผนังแบบโครงเบาของไม้ ซึ่งสั่นสะเทือนง่าย เช่น ขณะเดินในบ้าน หรือขณะมีรถวิ่งผ่านหน้าบ้าน รวมถึงเสียงรบกวน ทั้งจากนอกบ้าน และในบ้าน ที่ลอดผ่านช่องรอยต่อไม้ฝา ไม้พื้น นั่นเอง
2. ปัญหาปลวก
การใช้ไม้ เป็นองค์ประกอบในการสร้างบ้าน แม้ว่าจะมีข้อดี ในเรื่องของความแข็งแรง หากเกิดแผ่นดินไหว บ้านไม้จะมีความยืดหยุ่น คงทน และแข็งแรงมากกว่าบ้านปูน เพราะเมื่อเกิดแผ่นดินไหว บ้านปูน จะเกิดรอยร้าวขึ้นได้ง่ายกว่า รวมทั้งมีปัญหาเรื่องความอับชื้น แต่บ้านไม้ ก็มักจะมีปัญหาเรื่องของปลวก และแมลงต่าง ๆ ที่มากัดกินไม้ จึงจำเป็นที่จะต้องรู้ วิธีดูแลรักษาไม้ รวมทั้งวิธีกำจัดปลวก ไม่ให้เข้ามาก่อความเสียหายในตัวบ้าน
3. รั่วซึม สีหลุดรอก
ไม้อาจจะยืด-หด ตามสภาพอากาศ ทำให้ระหว่างช่องว่างของบ้านไม้ รอยต่อระหว่างไม้กับปูน อาจจะเกิดปัญหาน้ำรั่วซึมได้ นอกจากนั้น ปูนมักมีปัญหาสีหมองง่าย หลุดลอกร่อน ทำให้ต้องมีการซ่อมบำรุง และหากออกแบบมาไม่ดี เลือกใช้โทนสีที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้บ้านดูมืดทึบ และอึดอัดได้
4. ราคาค่อนข้างสูง เสี่ยงงบบานปลาย
ในส่วนของไม้ ที่นำมาใช้ในการสร้างบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ ต้นทุนที่มักมีราคาค่อนข้างสูง หากเป็นไม้เนื้อดี ไม้เนื้อแข็ง จะมีราคาแพงกว่าบ้านไม้แบบอื่น ๆ อีกทั้งในการสร้าง หรือซ่อมบำรุงบ้านไม้ จะต้องใช้ช่างฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญ และมีความพิถีพิถันเป็นอย่างมาก ทำให้แบบบ้านไม้กึ่งปูน ที่ใช้ทั้งไม้ และปูนมาเป็นองค์ประกอบของโครงสร้าง จากที่คิดว่า จะช่วยประหยัดงบประมาณ อาจไม่ใช่เสมอไป
5. เคลื่อนย้าย ปรับปรุง ต่อเติมได้ยาก
บ้านไม้ง่ายต่อการรื้อถอน และปรับปรุงมากกว่าบ้านแบบอื่น ๆ มาก สามารถยก-ย้ายไปได้ทั้งหลัง แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามหลักการทางวิศวกรรม ขณะที่บ้านปูนนั้น ทำได้ยากกว่า โดยเฉพาะบ้านปูน ที่ก่อสร้างด้วยระบบ Precast ซึ่งนิยมใช้ในโครงการบ้านจัดสรร
หากต้องการต่อเติมห้อง จะต้องมีวิศวกรคุมงาน ดูแลและให้คำปรึกษา หรือไม่ก็ต้องทุบทิ้ง เพื่อสร้างใหม่ ทำให้บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ หากจะเคลื่อนย้าย ปรับปรุง ต่อเติม ต้องคำนึงถึงโครงสร้างทั้งหลังที่เชื่อมต่อกันด้วย
ความร้อน
ปัญหาที่พบบ่อยในบ้านไม้ โดยเฉพาะแบบบ้านไม้กึ่งปูน ที่ชั้นที่ 2 เป็นไม้ และไม่มีการติดตั้ง ฝ้ากันความร้อน ทำให้ชั้นที่ 2 ของบ้าน แทบจะอยู่ไม่ได้เลยในเวลากลางวัน เนื่องจากมีอากาศร้อนมาก แม้จะสามารถติดตั้งแอร์ได้ แต่ต้องปรับปรุงหลายจุด
วิธีการดูแลรักษา บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้
วิธีดูแล และบำรุงรักษา เพื่อให้บ้านสภาพดี สวยเหมือนใหม่ และอยู่กับเราไปนาน ๆ โดยแยกเป็น 2 ส่วน ดังนี้
1. งานไม้
หากเป็นการทำความสะอาดไม้ส่วนที่เคลือบผิวแล้ว ให้ใช้ผ้าชุบน้ำ หรือผ้าชุบน้ำยาทำความสะอาดแบบอ่อน ๆ เช็ดคราบสิ่งสกปรกออก แต่ถ้าหากสี ที่ทาไม้รอบนอกเกิดการหลุดร่อน ให้ขัดสี ไสผิวไม้ให้เรียบก่อนลงสีใหม่ เลือกสีที่ออกแบบ เพื่องานไม้โดยเฉพาะ ทาอย่างน้อย 2-3 ชั้น เว้นระยะห่างกัน 6 ชั่วโมง
โดยก่อนทาสีบ้านไม้ ควรใช้น้ำยาป้องกันแมลงกินไม้ เพื่อป้องกันปลวก และมอด นอกจากนี้ ควรขัดผิว และทาสีบ้านไม้ภายนอกด้วยสีย้อมไม้สำหรับนอกบ้านทุก 3 ปี เพื่อช่วยยืดอายุการใช้งาน และตรวจเช็กเนื้อไม้ของบ้านไม้ทุก 4 เดือน หรือตามที่ช่างผู้เชี่ยวชาญแนะนำ
2. งานปูน
บ้านปูน จะมีปัญหาในเรื่องของความอับชื้น ทำให้เกิดปัญหาการเกิดเชื้อราได้ง่าย ดังนั้น จึงต้องหมั่นเปิดประตู หน้าต่าง เพื่อช่วยในการระบายอากาศ และความชื้นภายในบ้าน ซึ่งจะลดปัญหาการเกิดเชื้อราคาบนผนังบ้าน แต่ถ้าจะให้ดี ควรทาสีป้องกันเชื้อรา ซึ่งจะดีกว่าการเลือกใช้วอลเปเปอร์ เพราะในระยะยาวจะเสี่ยงกับการเกิดปัญหาเชื้อราได้เหมือนกัน
ข้อควรระวัง ก่อนรีโนเวทบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้
บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้นั้น ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุค 80-90 เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ก็อาจจะไม่สวยเช่นเดิม แต่การจะตัดใจทุบรื้อเพื่อสร้างใหม่ก็อาจทำใจลำบาก ไหนจะงบประมาณที่อาจบานปลายอีกด้วย ซึ่งการปรับปรุงบ้านเก่าไม่ใช่อยากตัด รื้อ เติม ตรงไหนก็ทำได้ทันที แม้จะรู้สึกว่าบ้านยังไม่ทรุดโทรมแต่ในแง่ของโครงสร้าง มีข้อควรระวังที่ต้องตรวจเช็คให้ดีก่อนจะเริ่มปรับปรุงบ้านด้วย
– เช็คโครงสร้างเดิม โดยผู้เชี่ยวชาญก่อนต่อเติมและรื้อถอน การปรับรื้อ ซ่อมแซม จึงต้องระมัดระวัง ซึ่งโดยปกติแล้ว งานรีโนเวท มีทั้งความต้องการเปลี่ยนแปลงหน้าตาบ้านภายนอก และปรับปรุงพื้นที่ใช้สอยภายใน ซึ่งหลาย ๆ จุดสามารถรื้อได้ในทันที แต่บางจุดไม่ควรตัดสินใจรื้อ หรือต่อเติมเอง
– ไม่เพิ่มภาระให้โครงสร้างบ้านเก่า ต้องตรวจสอบก่อนว่า พื้นรับน้ำหนักได้หรือไม่ เพื่อป้องกันบ้านทรุด หรือผนังแยกจากบ้านเดิม ควรปรึกษาสถาปนิก วิศวกร ควรปลอดภัยไว้ก่อน ด้วยการไม่เพิ่มภาระให้กับโครงสร้างมากเกินไป
– บ้านเก่า มักมาพร้อมกับอาการรั่วซึม สาเหตุของอาการรั่วซึมบนฝ้าเพดานนั้น อาจมีที่มาต่อเนื่องมาจากการรั่วซึมบนหลังคา กระเบื้องหลังคาแตก อุปกรณ์หลังคาเสื่อมสภาพ การติดตั้งวัสดุมุงหลังคาผิดวิธี ตลอดจนโครงสร้างของงานหลังคาแอ่น ทำให้น้ำไหลย้อนเข้ามาทางรอยต่อได้ ก่อนที่จะทำการเปลี่ยนฝ้าใหม่ ต้องทำการแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ ให้เรียบร้อยเสียก่อน หาช่างที่มีความชำนาญ มาซ่อมแซมในจุดที่มีปัญหา แต่หากหลังคาบ้านชำรุดเสียหายมาก การรื้อเปลี่ยนใหม่ทั้งผืน น่าจะตอบโจทย์และจบทุกปัญหาได้ดีกว่า
– ไม้เก่าสภาพดีมีค่า เก็บไว้ใช้ประหยัดงบ หากไม้เก่ายังมีสภาพดีอยู่ ควรระมัดระวังในการรื้อถอน เพื่อให้สามารถนำมาใช้งานต่อได้ ด้วยการนำไปขัดผิวหน้าเดิมออก หรือย้อมสีใหม่ แต่หากไม้จริง มีสภาพผุพังแล้ว แต่เจ้าของยังต้องการบ้านไม้เช่นเดิม อาจเลือกใช้วัสดุทดแทนไม้ ที่ง่ายต่อการดูแลรักษา ปลวก และแมลงไม่กินแทนได้